เปิดคมคิด "จาตุรนต์
พลันที่ปรากฏชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ใน ครม.ปู 5 "จาตุรนต์ ฉายแสง" ก็ดูเหมือนจะเกิดภาพที่เป็นบวกกับ ศธ.ต่อเนื่องจาก "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อดีต รมว.ศธ.ที่ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ด้วยประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีในวงการศึกษา โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ.ระหว่างปี 2548-2549 ทำให้ "จาตุรนต์" ถือเป็นแคนดิเดตที่เหมาะสม เห็นได้จากเสียงการตอบรับในวงกว้าง เข้าทำนองได้ดอกไม้มากกว่าก้อนอิฐ
"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ รมว.ศธ.คนใหม่ ถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของ ศธ. ซึ่ง "จาตุรนต์" ประกาศชัดเจนว่าจะเน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ด้วยการสานต่องานที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- กระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอน
จะมีการรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับการ เรียนการสอนที่ตอบโจทย์ปัญหาการเรียนการสอนในปัจจุบัน และทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นปัญหาร่วมกัน เพราะมองว่าการเรียนการสอนแบบใหม่ต้องมุ่งไปสู่คุณลักษณะผู้เรียนที่ต้องการ เช่น การคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องทำให้ผู้เรียนเรียนตามหลักสูตรแล้วได้ผล ขณะเดียวกัน ต้องใช้สื่อและนวัตกรรมแบบใหม่ เหมาะกับโลกยุคอินเทอร์เน็ต ต้องให้ผู้เรียนรู้ใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
ดังนั้น การสอนต้องเปลี่ยนไป บทบาทของครูต้องปรับให้ตัวเองตั้งคำถามเก่ง และส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม กระตุ้นให้เด็กคิดและวิเคราะห์ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในการหาความรู้ คือถ้าเด็กมีความคิดสะเปะสะปะ เราอาจไม่ได้พัฒนาอย่างที่เขาควรจะเป็น ขณะเดียวกัน ถ้าออกแบบการเรียนการสอนแคบไป เด็กก็จะไม่กระตือรือร้นที่จะหาความรู้ด้วยตัวเอง
- ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร
ที่ผ่านมามีการปรับหลักสูตรมาเป็นระยะ ๆ ก็ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกรรมการ และมีการใช้ผลวิจัยอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อย เพราะไม่มีองค์กรหลักที่ทำวิจัยเรื่องหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยตรง คือเราเจอสภาพที่ใครอยากให้เด็กเรียนอะไรก็จะเสนอ ดูเหมือนดี แต่ถ้าเราเอาตามนั้นหมดก็จะไม่รู้ว่าเรากำลังมีหลักสูตรที่ดีกับเด็กหรือไม่ องค์ประกอบเนื้อหาที่สอนเด็กดีแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย หรือผลการค้นคว้าที่สรุปเอาไว้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมคิดว่าต้องนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ โดยจะตั้งองค์กรวิจัยและพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งปกติเรามีการแลกเปลี่ยนความรู้อยู่แล้ว แต่ขาดการพัฒนาและวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยผลงานวิจัยจากองค์กรนี้จะเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียน การสอน ทั้งหมดนี้จะต้องฟอร์มทีมขึ้นมาทำงาน คิดว่าอีก 1 เดือนก็น่าจะเป็นรูปเป็นร่าง
- ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษากับภาครัฐมากขึ้น
เริ่มจากว่าประเทศต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งไทยมีศักยภาพพอสมควร แต่เราต้องรู้ว่าทำอย่างไรที่จะแข่งขันและร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ได้ เรามีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องน้ำ การคมนาคม ถ้าจะทำเรื่องนี้ได้จริงก็ต้องมีคน โดยเฉพาะช่างฝีมือและช่างเทคนิคจำนวนมาก ไม่นับรวมว่าเราจะมีการลงทุนมากขึ้น หากมีโครงสร้างพื้นฐานดี การพัฒนาต่าง ๆ ที่จะตามมาหลังจากนี้ ล้วนต้องการคนที่มีฝีมือ และคนที่ทำหน้าที่ในภาคบริการ
สิ่งที่จำเป็นคือเราต้องรู้ว่าประเทศมีความต้องการคน ด้านไหนบ้าง ซึ่งคิดว่าต้องสำรวจและพยายามให้เห็นภาพความต้องการหลัก ๆ แต่อาจจะไม่แม่นยำ 100% เพราะบางโครงการที่จะทำอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่หากเราไม่เตรียมพร้อมก็จะพบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
สำหรับการสำรวจทำได้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือต้องทราบสมรรถนะของคนที่จะไปทำงานด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน หมายความว่าเราต้องรู้ความต้องการที่ชัดเจนจากภาคเอกชนมากขึ้น เขาต้องบอกเราว่าต้องการคนที่มีคุณลักษณะแบบไหน และต้องร่วมกำหนดหลักสูตร ซึ่งตอนนี้ก็มีการทำอยู่บ้างแล้ว นอกจากนี้ ก็ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมคิดเรื่องระบบคุณวุฒิวิชาชีพด้วย เพื่อให้เกิดมาตรฐานขึ้นมาทั้งในและต่างประเทศ
- แผนสร้างคนให้พร้อมรับการแข่งขันระดับอาเซียนและระดับโลก
การทำหลักสูตรหรือการสร้างคนต้องอิงหลักสากลมากขึ้น เช่น การผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลก หรือมีการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยไทยเอง โดยนำมาตรฐานสากลมาจับ ตลอดจนการผลักดันการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เพื่อทำให้ผลการทดสอบของไทยใน PISA อยู่ในลำดับดีกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะถ้าจะต้องอยู่บนเวทีการแข่งขันของโลก ก็ต้องเทียบเคียงไทยกับมาตรฐานต่างประเทศให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาด้านการศึกษาเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นเรื่องที่ผมกำลังให้ทำการสำรวจและจัดทำยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน เพราะผมว่าอาเซียนเป็นเรื่องที่คนพูดกันเป็นยาดำไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ชัดเจนเท่าที่ควรว่าประชาคมอาเซียนจะมีผลอย่างไรต่อแต่ละ ด้านของประเทศ และเราควรเตรียมคนอย่างไร
- อีก 6 เดือนข้างหน้าจะเห็นผลงานอะไรจาก ศธ.
ผมคิดว่านโยบายที่ได้กำหนดจะมีการขับเคลื่อนที่เห็น ผล แน่นอนว่าหลายเรื่องต้องใช้เวลา แต่การเริ่มต้นทำให้คนเห็นทิศทาง เห็นยุทธศาสตร์และแนวทางที่น่าจะเกิดได้ โดยเรื่องที่สำคัญคือการปฏิรูปการเรียนการสอน และเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาครู การทดสอบ การวัดผล ประเมินผล
ทั้งหมดนี้ต้องเชื่อมโยงกัน และมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอน นี่คือหัวใจนโยบายของกระทรวง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เรานำมาจับให้สัมพันธ์กัน
ผู้อำนวยการโรงเรียน
ผอ.ซันโย สังวรดี
ผู้อำนวยการโรงเรียน